1 2 3 4 5 6 7 8 9

 

ชื่อท้องถิ่น  ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ(แม่ฮ่องสอน), ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว(ภาคกลาง), เกีย(จีนแต้จิ๋ว)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber officinale Roscoe.

วงศ์  ZINGIBERACEAE

ชื่อสามัญ  Ginger

ลักษณะ  เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นหอมเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป้นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน  

ใบ  เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยงๆ กว้าง 105 - 2 ซม. ยาว 12 - 20 ซม. หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางนำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสองแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก  

ดอก  สีขาว ออกรวมกันเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณ แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมา 15 - 25 ซม. ทุกๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรผู้มี 6 อัน  

ผล กลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม.

ขยายพันธุ์  เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5 - 10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา

ส่วนที่นำมาเป็นยา  เหง้าแก่สด

สารเคมีและสารอาหารที่สำคัญ  ในเหง้าขิงมี
- น้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 1 - 3 % ขึ้นอยู่กับวิธีปลูกและช่วงการเก็บรักษา ในน้ำมันประกอบด้วยสารเคมี ที่สำคัญคือ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene), ซิงจิเบอรอล (Zingiberol), ไบซาโบลี (bisabolene) และแคมฟีน(camphene)
- น้ำมัน (oleo - resin) ในปริมาณสูง เป็นส่วนที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุน และ มีรสเผ็ด ส่วนประกอบสำคัญ ในน้ำมันซัน ได้แก่  จินเจอรอล (gingerol),  โวกาออล (shogaol),  ซิงเจอโรน (zingerine)
-มีคุณสมบัติเป็นยากัดบูด กันหืน ใช้ใส่ในน้ำมันหรือไขมันเพื่อป้องกันการบูดหืน สารที่ทำให้ขิงมีคุณสมบัติเป็นยากันบูด กันหืน ได้ คือ สารจำพวกฟีนนอลิค

 

สรรพคุณ

ต้น ขับผายลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ บำรุงธาตุไฟ รักษานิ่ว ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้ท้องร่วง

ใบ ใบสดใช้คั้น เอาแต่น้ำกิน บรรเทาอาการฟกช้ำ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม รักษาโรคกำเดา นิ่ว เบาขัด ฆ่าพยาธิ ขับลมในลำไส้

ดอก ทำให้ชุ่มชื่น ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ บำรุงไฟธาตุ รักษานิ่ว ขัดเบา

ผล รักษาอาการไข้ บรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ กระกายน้ำ ตาฟาง ตาต้อกระจก วิงเวียน  บำรุงน้ำนม

ราก ทำให้ผิวหนังสดชื่น ขับลม ช่วยให้หลอดคอโปร่ง ทำให้เสียงไพเราะ ฆ่าพยาธิ ช่วยเจริญอาหาร รักษาบิดตกเป็นโรหิต นิ่ว ไอ

เหง้า ใช้ทั้งแก่และอ่อน ทำเป็นเครื่องเทศ เครื่องดื่ม กลบรสแต่งกลิ่น ทางยาใช้ขับลม รักษาอาการท้องอืด จุกเสียด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ไอ หอบ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ รักษาบิด

เปลือกเหง้า ใช้แห้ง ต้มน้ำกิน ขับปัสสาวะ ขับลม รักษาอาการท้องอืดแน่น อาการบวมน้ำ ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แผลมีหนอง

 

สรรพคุณทางยาและวิธีใช้

แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ท้องผูก ขับลม คลื่นไส้อาเจียน และอาการเมารถเมาเรือ
นำเหง้าขิงแก่สด 50 กรัม ทุบให้แตก นำไปต้มกับน้ำ 2 แก้ว รินดื่มแต่น้ำ วันละ 3 ครั้ง

ปวดกระเพาะอาหาร
ใช้เหง้าขิง น้ำตาลทรายแดง และพุทราแห้ง ต้มดื่มวันละครั้ง

ผมร่วง หัวเริ่มล้าน
ใช้เหง้าสดนำมาผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ 2 ครั้ง ประมาณ 3 วัน ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้พอกต่อไปสักระยะ

แก้สะอึก
ใช้ขิงสดตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำผึ้ง คนให้เข้ากัน ทำเป็นน้ำขิงสดรับประทาน

ขับเหงื่อ
นำขิงแก่มาปอกเปลือกฝานเป็นชิ้นบางๆ นำไปตากในที่ร่มจนแห้ง ( 2 วัน) เอาขิงแห้ง 3 กรัม ไปต้มกับน้ำ 1 แก้วจนเดือด เป็นเวลา 3 นาที เอาเฉพาะส่วนน้ำมาเติมน้ำตาลทรายขาว

แก้ตานขโมย
นำขิง พริกไทย ใบกะเพรา ไพล มาบดผสมกันรับประทาน

แก้ไข้ ร้อนใน
ใช้ลำต้นที่แก่สดทุบแตกประมาณ 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม

ถูกแมงมุมกัด แผลที่บีบน้ำเหลืองออก
ใช้ขิงฝานเป็นแผ่นบาง ๆ นำมาวางทับบริเวณที่เป็น

แก้ไอ
ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไป ครึ่งแก้ว ปิดฝาตั้งไว้ 5 นาที รินเอาแต่น้ำดื่ม ระหว่างอาหารแต่ละมื้อ หรือ นำเหง้าขิงมาฝานเป็นแผ่นจิ้มเกลือ รับประทาน

กำจัดกลิ่นรักแร้
ใช้เหง้าขิงแก่มาทุบ คั้นเอาแต่น้ำขิง ทารักแร้เป็นประจำจะช่วยกำจัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา

 แผลเริมบริเวณหลัง
ใช้เหง้า 1 หัว เอามาเผาจนผิวนอกเป็นถ่าน คอยปาดถ่านที่ผิวนอกออก เผาและปาดไปเรื่อยๆ นำผงถ่านที่ได้ผสมกับน้ำดีหมูใช้ทาบริเวณที่เป็น

ฟกช้ำจากการหกล้ม หรือกระทบกระแทก
ให้ใช้เหง้าสดมาตำกับเหล้าพอก หรือใช้น้ำคั้นจากใบสด 1 ถ้วย ตังกุย 100 กรัม บดเป็นผงผสมกับเหล้ากินติดต่อกันประมาณ 3 วัน

หนังมือลอกเป็นขุย
ให้ใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น นำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง เอาแผ่นขิงที่ผ่านการแช่มาถูกทาตามบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง

แก้หวัด
นำขิงแก่ขนาดประมาณหัวแม่มือ ทุบให้แตก หั่นเป็นแว่นต้มน้ำ 1 แก้ว ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มน้ำให้เดือดนาน 5 นาที เสร็จแล้วตักขิงออก เติมน้ำเพิ่มเล็กน้อย ดื่มขณะยังอุ่น ทำอย่างนี้ 3 เวลา เช้า - กลางวัน - เย็น

พยาธิตัวกลมจุกลำไส้
ใช้น้ำขิงผสมน้ำผึ้งดื่ม

 

การออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเท่าที่วิจัยพบแล้วมีอาทิเช่น
1. ลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล
โดยการลดดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
2. ช่วยลดความอยากของคนติดยาเสพติดได้
3. มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ช่วยระงับการชักในสัตว์ทดลอง, เสริมฤทธิ์ของยานอนหลับ กลุ่ม BARBITURATE บรรเทาปวดลดไข้, ลดอาการเวียนศีรษะ
4. ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย
5. ป้องกันฟันผุ
6. ออกฤทธิ์ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด
7. บรรเทาอาการไอ

8. ป้องกันและบำบัดอาการปวดศีรษะจากไมเกรนได้
9. ลดการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร

 

1 2 3 4 5 6 7 8 9