1 2 3 4 5 6 7 8 9

ชื่อสมุนไพร : ขิง

ชื่อภาษาอังกฤษ : Ginger

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Rosc.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพืชที่มีอายุอยู่ได้หลายฤดูส่วนของลำต้นที่เหนือดินจะมีลักษณะตั้งตรง  มีลำต้นที่แท้จริงอยู่ในดินที่เรียกว่าแง่ง (rhizome) แง่งจะแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ  ตามปกติลำต้นที่อยู่เหนือดินมีความสูงประมาณ 3 ฟุต และจะมีกาบใบห่อหุ้ม  ดอกเป็นดอกช่อขนาดเล็ก มีก้านดอกสั้นมาก ดอกจะบานจากตรงโคนไปหาส่วนปลาย  มีใบเกล็ดสีเขียวแกมเหลือง  ดอกมีสีค่อนข้างเหลืองแง่งจะมีสีเหลืองจาง เนื้อขิงมีสีเขียวแกมเหลือง  ในแง่งจะพบสารเคมีที่เป็นน้ำมันหอมระเหยและโอลีโอเรซิน  ขิงเจริญได้ดีในดินที่มีความชื้นสูงและอากาศค่อนข้างร้อน

 

แหล่งกำเนิด : ขิงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเซียนั่นเอง  ทั้งนี้เพราะมีการจารึกเป็นภาษาจีน และสันสกฤตไว้ว่าในจีนและอินเดียได้มีการใช้ขิงเป็นยามาเป็นเวลานานแล้ว จากนั้นจึงแพร่ไปสู่เอเซียไมเนอร์ และเข้าสู่กรุงโรมโดยกองคาราวานต่าง ๆ จึงนับได้ว่าขิงเป็นเครื่องเทศที่รู้จักกันมานานแล้วเช่นกัน   ชาวยุโรปได้เริ่มใช้ขิงกันมาตั้งแต่ยุคสมัยกลาง (Middle age) ของประวัติศาสตร์  ซึ่งนับเป็นเครื่องเทศชนิดแรกของชาวยุโรป  แต่เริ่มเป็นรู้จักกันทั่วไปอย่างแพร่หลายในยุโรปในช่วงศตวรรษที่19-20 นี้เอง  ในแต่ละปีประเทศต่าง ๆ ผลิตขิงได้มากถึง 20,000 ตัน  ในจำนวนนี้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ได้จากประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้  ในปัจจุบันขิงปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตอบอุ่น และเขตร้อน  เช่น หมู่เกาะอินเดียตะวันตก จาไมกา ภาคตะวันตกของอัฟริกา เมกซิโก จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ควีนส์แลนด์ อินโดนีเซีย หมู่เกาะคาริบเบียน แต่ขิงจากจาไมกาเป็นขิงที่มีคุณภาพดีและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

 

ส่วนที่ใช้ : เหง้า

สรรพคุณพื้นบ้าน : การใช้ขิงเป็นยานั้นได้มีมานานแล้ว เช่น ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII) ของอังกฤษได้นำขิงไปใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นกาฬโรค  ในขิงมีสารที่ให้ความเผ็ดร้อนอยู่ด้วย  จึงนำคุณสมบัติดังกล่าวนี้ไปใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาบรรเทา หรือรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งในรูปของขิงสดและขิงแห้ง  โดยหั่นขิงเป็นแว่น ๆ หรือทุบพอแหลกแล้วนำไปชงกับน้ำหรือดองสุราก็ได้  ขิงสดใช้เป็นยาบำรุงธาตุช่วยเจริญอาหาร แก้ลมวิงเวียน แก้สะอึก แก้ไข้และพิษต่าง ๆ แก้เสลด เสมหะ หอบ ไอ และอาเจียน เป็นยาชูกำลังผู้ป่วยที่ฟื้นจากไข้ใหม่ ๆ ส่วนขิงแห้งใช้แก้ไข้ นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก บำรุงประสาท  ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ แก้โรคต่าง ๆ เช่น แก้ซางขึ้นที่ลิ้น ปาก คอ และทรวงอก  ช่วยให้รอบเดือนมาตามปกติ แก้ไข้ทับระดู  ใช้เป็นยาครรภ์รักษา  ใช้ขับน้ำคาวปลาสำหรับหญิงหลังการคลอดบุตรใหม่ ๆ แก้กระหายน้ำ ปวดท้อง และวิงเวียนศีรษะ แก้กระษัยและฝีในท้อง  นอกจากนี้ยังใช้ขิงผสมกับใบขี้เหล็ก และหญ้าฟันงูใช้ทำลายเม็ดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย  ในบางประเทศได้นำขิงไปสกัดส่วนที่เป็นน้ำออกมาแล้วใช้เป็นเครื่องดื่ม  ซึ่งนอกจากจะมีรสและกลิ่นที่ชวนดื่ม แล้วยังใช้เป็นยาขับลมออกจากกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย  แก้จุดเสียดและแน่นหน้าอก  นอกจากนี้ยังเป็นยาทาแก้เจ็บปวด และทำลายพยาธิตัวกลม ใช้ขิงแห้งผสมกับพริกไทย ผักชีและน้ำผึ้ง นำไปรับประทานแก้ท้องร่วงอย่างได้ผลดี  หรือนำขิงสดผสมกับกระเทียมและน้ำผึ้งแก้อาการหืด

                การที่ใช้ขิงเป็นยาขับลมได้นั้น  เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยในแง่งของขิงที่รับประทานเข้าไปจะมีผลต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้  โดยไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผนังของระบบทางเดินอาหารให้มีการบีบตัวเพิ่มมากขึ้น  จึงเกิดการขับลมออกมา  จากการทดลองต่อมาพบว่าน้ำสกัดจากแง่งขิงที่ความเข้มข้นแตกต่างกันจะมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผนังไส้ต่างกันด้วย  กล่าวคือ ถ้าหากใช้ความเข้มข้นสูงหรือต่ำจะไปกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่กระเพาะอาหารส่วนฟันดัส (fundus) และที่ความเข้มข้นต่ำจะไปกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อที่ลำไส้ ส่วนอีเลียม (ileum) แต่ถ้าใช้ความเข้มข้นสูง ๆ จะยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อที่ลำไส้ ส่วนนี้จนกระทั่งหยุดการบีบตัว

                ในอาหารที่รับประทานนั้นถ้าหากมีไขมันปนอยู่มากจะย่อยยาก  ทั้งนี้เพราะไขมันจะยับยั้งการหลั่งของเอนไซม์ที่กระเพาะอาหาร  ในขณะที่ไขมันเคลื่อนเข้าสู่กระเพาะอาหารส่วนที่เรียกว่าดูโอดีนัม (duodenum) จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเอนเทอโรแกสโตรน (enterogastrone) ออกมา  ฮอร์โมนนี้จะไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะอาหาร  การย่อยอาหารเกิดได้ช้า  จึงอิ่มได้นาน  นอกจากนี้ยังพบว่าอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนก็กระตุ้นให้มีการหลั่งของฮอร์โมนนี้เช่นเดียวกันแต่ยังน้อยกว่าอาหารพวกไขมัน

                การที่ได้ทราบว่าขิงสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารได้นั้น  จึงนำขิงไปผสมในอาหารหลายชนิด เช่น ซุป คุกกี้ พุดดิ้ง เค้ก แกงกะหรี่ ฯลฯ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหาร  จะได้รับประทานอาหารได้มากขึ้นด้วย

องค์ประกอบทางเคมี : ขิงเป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.25 – 3 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันหอมระเหยนี้มีสีค่อนข้างเหลือง  ละลายได้ดีในอีเทอร์และแอลกอฮอล์  แต่ไม่ละลายน้ำ  สำหรับสารเคมีสำคัญในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ซิงจิเบอรีน (Zingiberine)  โดยที่จะพบซิงจิเบอรัลมากถึง 17 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีซิงจิรอล (Zingirol) อยู่ด้วย  สารนี้เป็นตัวสำคัญที่ให้เกิดรสเผ็ดร้อนของขิง 

                ส่วนสารอื่น ๆ ที่พบอีกหลายชนิด ได้แก่ ซิตรอลมีปริมาณมากถึง 15-25 เปอร์เซ็นต์ และสารพวกโอลีโอเรซิน (oleoresin)   ตัวที่สำคัญได้แก่ซิงเกอโรน (zingerone)  ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นฉุนของขิง  สารนี้มีประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ 

 

คุณสมบัติทางชีวภาพและเภสัชวิทยา :  ประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ของขิง ขึ้น อยู่กับ       ลิลาลูล, ไดเอธิลซัลไฟด์, เมธิลอัลลีนซักไฟด์ เอธิลไอโซโปรปีลซัลไฟด์และแอลฟา-เทอร์ไปนีอัล  แต่กลไกในการยับยั้งการเจริญต่อจุลินทรีย์ของสารดังกล่าวนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด

 

1 2 3 4 5 6 7 8 9